0

รายการที่ชื่นชอบ

"วุ้นไทย" ลงทุนน้อย ขายได้กำไรเท่าตัว

วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 15 ฉบับที่ 230

ก้าวแรกเศรษฐี

ดวงกมล โลหศรีสกุล

"วุ้นไทย" ลงทุนน้อย ขายได้กำไรเท่าตัว

"สิ่งสำคัญของวุ้นอยู่ที่น้ำ ควรเลือกใช้น้ำต้มสุก สะอาด ปราศจากสี กลิ่น รส มิฉะนั้น วุ้นที่ได้จะมีกลิ่นเหม็นคาว ส่วนรูปแบบ อาศัยแม่พิมพ์ที่แปลกตา อาทิ รูประฆัง โบว์ สัตว์ต่างๆ ตัวการ์ตูน หรือรูปอักษรจีน ภาษาเกาหลี ญี่ปุ่น รวมไปถึงลายที่ได้รับความนิยม ไม่ว่าจะเป็น สัญลักษณ์วันเกิด หัวใจ รูปโบว์ ดอกกุหลาบ ผลไม้ ตัวอักษร เป็นต้น"



หนึ่งในเมนูขนมไทยที่หารับประทานง่าย รสชาติอร่อย และเป็นที่นิยมตลอด นั่นคือ "วุ้น" ขนมหวานเนื้อนิ่ม ใสแจ๋ว ปัจจุบันกระตุ้นยอดขาย ด้วยการนำมาพลิกแพลงรสชาติให้มีความหลากหลาย เเละรูปแบบมากมาย อาทิ วุ้นเฉาก๊วย วุ้นลูกชุบ วุ้นมะม่วง วุ้นกาแฟ วุ้นเค้ก วุ้นสตรอเบอร์รี่ วุ้นน้ำนมถั่วเหลือง วุ้นนมสด วุ้นธัญพืช วุ้นชาเขียว วุ้นนมพร่องมันเนย วุ้นสายรุ้งกะทิ วุ้นหน้าทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ถั่วดำ สังขยา เป็นต้น

วันนี้ ก้าวแรกเศรษฐี มีผู้เชี่ยวชาญด้านการทำวุ้น มาร่วมเผยข้อมูล รายละเอียด กรรมวิธีการทำ สถานที่จำหน่าย และเคล็ดลับต่างๆ เกี่ยวกับการทำวุ้น นั่นคือ อาจารย์พรรณี เล้าศิริ




วุ้นไทยแฟนซี

ทำง่าย ขายได้ตลอด


ปัจจุบัน อาจารย์พรรณี นอกจากเป็นวิทยากรประจำศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน ยังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการแผนกบัญชี บริษัทแห่งหนึ่ง และยังจำหน่ายวุ้นเป็นอาชีพเสริม ซึ่งลักษณะวุ้นที่เธอจำหน่ายเป็นวุ้นแฟนซี สีสันสวยงาม เนื้อนิ่ม รับประทานง่าย รสชาติหวานกำลังดี รับประทานได้ทุกเพศ ทุกวัย

เริ่มต้น อาจารย์ อธิบายคุณสมบัติของวุ้นว่า มี 2 รูปแบบ คือ วุ้น A และ วุ้น AA ความแตกต่างคือ วุ้น A เนื้อจะนิ่ม เนียน ไม่กรอบ ส่วนวุ้น AA จะมีความแข็ง และกรอบ ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้ ความนิยมบริโภค เท่าๆ กัน แต่ที่ขายตามท้องตลาด ส่วนใหญ่มักจำหน่ายรูปแบบ AA เนื่องจากต้นทุนต่ำกว่า

สำหรับอุปกรณ์การทำวุ้น ผู้เชี่ยวชาญ บอกว่า ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วในครัวเรือน อาทิ หม้ออะลูมิเนียม ทัพพี ช้อนกาแฟ กระติก ไม้จิ้มฟัน ผ้าขาวบาง มีบางชนิดที่ต้องหาซื้อเพิ่ม เช่น แบบพิมพ์ ถ้วยตวง ช้อนตวง ที่ปาดส่วนผสม สีผสมอาหาร ขวดที่มีฝาบีบ พาย

"อุปกรณ์ที่จำเป็น ขาดไม่ได้ในการทำวุ้น ได้แก่ ช้อนตวง ถ้วยตวงแห้ง ถ้วยตวงน้ำ พาย ทัพพี กระติกเก็บความร้อน ช้อนชงกาแฟ หม้อสำหรับเคี่ยววุ้น ผ้าขาวบาง ไม้จิ้มฟัน ขวดสำหรับหยดสี สีผสมอาหาร กลิ่น กล่องใส่วุ้น ถุง และสก๊อตเทปใส ทั้งหมดนี้หากซื้อใหม่ยกชุด ต้นทุนประมาณ 3,000 บาท พร้อมวัตถุดิบอีกจำนวนหนึ่ง" อาจารย์พรรณี ระบุ

ลำดับถัดมา ถามถึงค่าวัตถุดิบ อาจารย์คนเดิม เผย ผงวุ้นที่จำหน่าย ทั่วไป 50 กรัม ราคา 53 บาท รวมน้ำตาล ภาชนะบรรจุ กล่อง ต้นทุนอยู่ที่ 170 บาท แต่สามารถทำกำไรได้เกินครึ่ง หรือประมาณ 200 เปอร์เซ็นต์ "ถ้าทำวุ้นตามสูตรที่ให้ไป จะได้วุ้นไซซ์เล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ประมาณ 250 ถ้วย ส่วนประกอบ คือ ผงวุ้น 1 ซอง ขนาด 50 กรัม ราคา 53 บาท น้ำตาล 2 1/2 ถ้วย ถ้วยขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว 3 แพ็ก หรือ 250 ถ้วย ราคา 39 บาท กะทิ 1 กล่องใหญ่ เฉลี่ยต้นทุนทั้งหมดประมาณ 170 บาท จำหน่ายถ้วยละ 2 บาท เบ็ดเสร็จกำไร 330 บาท"

เมื่อเป็นสินค้าที่ทำกำไรสูง ฉะนั้น ถ้าต้องการทำขาย ปริมาณควรอยู่ที่เท่าไหร่ และเริ่มต้นขายด้วยวิธีใด อาจารย์ ระบุ ปัจจุบันเนื่องจากคาดเดาตลาดยาก อีกทั้งตัวเลือกขนมมีมาก ดังนั้น บรรดามือใหม่ ควรเริ่มแต่น้อย ทดลองทำเพียง 1 สูตร หรือประมาณ 250 ถ้วยเล็ก ไปก่อน เมื่อเริ่มมีลูกค้า ค่อยประชาสัมพันธ์ว่ารับทำตามออร์เดอร์ วิธีนี้นอกจากไม่สิ้นเปลืองแล้ว ยังทราบความต้องการของผู้บริโภคแท้จริง "แม้วุ้นจะเป็นขนมที่ต้นทุนไม่สูง แต่แรกๆ ควรทำขายแต่น้อย เพราะปัจจุบันคาดเดาตลาดยาก ส่วนวิธีจำหน่ายที่ประหยัด เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจที่สุดคือ นำวุ้นใส่กระติกปิคนิค แล้วตั้งโต๊ะสแตนเลสวางจำหน่าย"



โดดเด่นด้วย รูปแบบ

เผยสูตรให้ลองทำ


เนื่องจากปัจจุบัน มีผู้ประกอบการจำหน่ายวุ้นเป็นจำนวนมาก ถามว่า ทำอย่างไรวุ้นจะมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ มีรูปลักษณ์ที่โดดเด่น สามารถสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้ อาจารย์ ตอบว่า สิ่งสำคัญของวุ้นอยู่ที่น้ำ ควรเลือกใช้น้ำต้มสุก สะอาด ผ่านการกรองจนแน่ใจว่า ปราศจาก สี กลิ่น รส มิฉะนั้น วุ้นที่ได้จะมีกลิ่นเหม็นคาว ส่วนรูปแบบ ควรใช้แม่พิมพ์ที่แปลกตา และได้รับความนิยม อาทิ รูประฆัง โบว์ สัตว์ต่างๆ ตัวการ์ตูน อักษรจีน ภาษาเกาหลี ญี่ปุ่น สัญลักษณ์วันเกิด หัวใจ รูปโบว์ ดอกกุหลาบ ผลไม้ ตัวอักษร "วุ้นถ้าทำตามสูตร รสชาติที่ได้ ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก ขึ้นอยู่กับความอดทนของผู้ทำ เนื่องจากใช้เวลานาน ประมาณ 3 ชั่วโมง สิ่งสำคัญ อยู่ที่การนำไปประยุกต์เข้ากับขนมชนิดอื่น เช่น วุ้นเค้ก วุ้นลูกชุบ เป็นต้น"

ดูเหมือนว่า การประกอบอาชีพดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงาน หรือพื้นที่การทำมากนัก ลำพังคนเดียวก็สามารถประกอบกิจการได้ ถูกหรือไม่ อาจารย์พรรณี กล่าวว่า ทุกอย่างทำเองคนเดียวได้ ภายในบริเวณที่พักอาศัย สมมติจะขายพรุ่งนี้ วันนี้สามารถทำล่วงหน้าเตรียมไว้ได้เลย "วุ้นใสเก็บได้นาน 6 วัน หากเป็นวุ้นกะทิ เก็บได้นาน 3 วัน เคล็ดลับตอนขายให้นำไปแช่เย็น วุ้นจะมีรสชาติอร่อยขึ้น หากจำหน่ายไม่หมด นำวุ้น มาขูดฝอย นำไปตั้งไฟเคี่ยวใหม่ สักพัก จะออกมาเป็นวุ้นเหมือนเดิม ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้กับวุ้นใสเท่านั้น"

ทราบรายละเอียดถึงตรงนี้ ขอคำแนะนำถึงการเลือกทำเล ผู้รู้ แนะว่า ควรเลือกบริเวณที่มีคนพลุกพล่าน เช่น ตลาดนัด ตลาดสด งานวัด งานประจำปี ชุมชน หอพัก บริษัทห้างร้าน ป้ายรถประจำทาง หน้าร้านสะดวกซื้อ สถานศึกษา หรือใครที่มีร้านอาหารอยู่แล้ว ให้นำไปเสริมเป็นของหวาน ส่วนวัน เวลาขาย ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ ขายได้ทุกวันไม่มีวันหยุด

นอกจากวุ้นจะลงทุนต่ำ ขายได้กำไรดีแล้ว ข้อได้เปรียบอีกอย่างคือ วัตถุดิบหาซื้อได้ง่าย อาจารย์ กล่าวว่า ส่วนผสมทุกอย่าง สามารถซื้อได้ที่ตลาดสด ร้านขายของชำ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้าทั่วไป ไม่เหมือนกับอาชีพขายอาหาร หรือผลไม้ ที่ต้องมีร้านประจำ หรือซื้อจากแหล่งถึงจะได้ราคาถูก

ก่อนยุติเนื้อหา อาจารย์พรรณีนำสูตรการทำวุ้นใส และวุ้นกะทิ มาให้ทดลองทำ และย้ำว่า โอกาสในการขายวุ้นยังมีพื้นที่อีกมาก เนื่องจากปัจจุบัน มีคนนิยมหันมาบริโภคขนมชนิดนี้มากขึ้น ตัวอย่าง แทนเค้กวันเกิด เค้กปีใหม่

สนใจสอบถามเนื้อหา ข้อมูล การทำวุ้น หรือเข้ารับการอบรม ติดต่อ ศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน โทรศัพท์ (02) 589-2222, (02) 589-0492 และ (02) 954-4999 ต่อ 2100, 2101, 2102 และ 2103





การทำวุ้นใส และวุ้นกะทิ

ส่วนผสม วุ้นใส

1. ผงวุ้น (ควรใช้ตรานางเงือก A เดียว) 3 ช้อนโต๊ะ

2. น้ำตาลทรายขาว 2 1/2 ถ้วยตวง

3. ใบเตยหอมสด (ใส่มากๆ ยิ่งดี) 6 ใบ

4. กลิ่นใบเตย (ตราวินเนอร์) 5-10 หยด

5. น้ำเปล่าสะอาด (ควรใช้น้ำที่ผ่านเครื่องกรองน้ำ) 8 ถ้วยตวง

วิธีทำวุ้นใส

1. นำผงวุ้นที่ตวงแล้ว แช่น้ำเปล่า 2 ถ้วยตวง แช่นานประมาณ 1 ชั่วโมง

2. นำหม้อใส่น้ำเปล่า 6 ถ้วยตวง ใส่ใบเตยสดล้างสะอาด ตัดเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 4-5 นิ้ว ตั้งไฟให้เดือด เคี่ยวจนกระทั่งได้กลิ่นใบเตย จากนั้นตักออก

3. นำวุ้นที่แช่น้ำแล้ว ลงไปคนจนละลาย ใช้เวลาประมาณ 7-8 นาที จะมีลักษณะหนึบๆ ใส่น้ำตาลทรายขาว และหยดกลิ่นใบเตยประมาณ 5-10 หยด คนกระทั่งน้ำตาลละลาย จากนั้นยกลง เทใส่กระติกเก็บความร้อน ปูผ้าขาวบางบนปากกระติก ปิดฝาไว้ก่อน และทำวุ้นกะทิต่อทันที

ส่วนผสม วุ้นกะทิ

1. ผงวุ้น (ควรใช้ตรานางเงือก A เดียว) 3 ช้อนโต๊ะ

2. น้ำตาลทรายขาว 1 ถ้วย

3. ใบเตยหอมสด

4. หัวกะทิ

(ใช้กะทิกล่องพาสเจอไรซ์ ตราชาวเกาะ ขนาด 1,000 กรัม) 4 ถ้วยตวง

5. เกลือป่น ซองละ 2 บาท 2 ช้อนโต๊ะ

6. แป้งข้าวเจ้า 1 ช้อนโต๊ะ

7. น้ำเปล่าสะอาด 4 ถ้วยตวง

วิธีทำวุ้นกะทิ

1. นำผงวุ้นที่ตวงแล้ว แช่น้ำเปล่า 1 ถ้วยตวง นานประมาณ 1 ชั่วโมง

2. นำหม้อใส่น้ำเปล่า 3 ถ้วยตวง ใส่ใบเตยสด ที่ล้างสะอาด และตัดใบเตยเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 4 หรือ 5 นิ้ว ตั้งไฟเคี่ยวจนกระทั่งได้กลิ่นใบเตย จากนั้นตักออก ใส่วุ้นที่แช่น้ำแล้วลงไป คนจนวุ้นละลายจะมีลักษณะหนึบๆ

3. ใส่น้ำตาลทรายขาว พอน้ำตาลละลาย ใส่เกลือ กะทิ แป้งข้าวเจ้า คนพอสุก อย่าให้กะทิแตกมัน

4. ยกลงจากเตา เทวุ้นกะทิที่เสร็จแล้วลงไปในกระติกเก็บความร้อนปิดฝาไว้

วิธีการหยอด : ให้ใช้แม่พิมพ์ ขนาดถ้วยพอดีคำ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว เทวุ้นใส สลับกับวุ้นกะทิ เริ่มต้นวุ้นชนิดใดก็ได้ แต่ชั้นสุดท้ายต้องเป็นวุ้นใส เนื่องจากสีสันจะสวยงาม และรสชาติกลมกล่อม



รายชื่อร้านที่ขายอุปกรณ์เบเกอรี่ ที่อาจารย์พรรณี แนะนำ

1. โอเค เบเกอร์ ซัพพลาย 418/3-4 หมู่ 5 ถนนศรีนครินทร์ ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โทรศัพท์ (02) 748-6933, (02) 745-8487

2. เนย&ยีสต์ 201 ถนนจักรวรรดิ (ป้ายรถเมล์วัดสามปลื้ม) สัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 622-7242

3. ร้านมานะกิจ เครื่องครัว ร้านอยู่ในตลาดเอี่ยมเจริญ เป็นตึก 4 ชั้น หลังร้านขายขนมจีนน้ำยา ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โทรศัพท์ (02) 394-0992, (02) 394-1356

4. ร้านตั้งจิบเซ้ง ที่อยู่ แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 222-1721, (02) 221-3809, (02) 221-2280, (02) 221-1693

5. ร้านแหลมทอง 1979/2 ปากซอยสุขุมวิท 75/1 ซอยอ่อนนุช พระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 311-2210, (02) 331-5433

6. ร้านค้าทั่วไป/ตลาดสดใกล้บ้าน/ห้างสรรพสินค้า

7. ร้านแสงอรุณ ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดจังหวัดนนทบุรี จำหน่ายวัตถุดิบทำขนมทุกประเภท ภาชนะบรรจุ และอุปกรณ์จำเป็นทั้งหมดสำหรับทำขนม โทรศัพท์ (02) 525-0504

8. ร้านชวนชมเบเกอรี่ บริเวณตลาดบางเขน 9-16-17 พหลโยธิน (ซอย 32/1) เสนานิคม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (081) 755-0059, (02) 941-9966 เปิดวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 07.00-19.00 น. วันอาทิตย์ เวลา 07.00-15.00 น.

9. ร้านทวีผล 41 ตรอกสะพานหัน (ซอยเยาวราช 35) ถนนเยาวราช แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ จำหน่ายอุปกรณ์และวัตถุดิบทำขนมทุกชนิด ทั้งปลีก-ส่ง และส่งสินค้าทางขนส่งไปรษณีย์ เปิดวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 08.30-18.00 น. โทรศัพท์ (02) 221-3662, (02) 221-2862

10. ร้าน CCT Kitchenware 928-932 ซอยเปาประสิทธิ์ ถนนทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 223-7463-4 แฟ็กซ์ (02) 226-5931 เว็บไซต์ www.cctkitchenware.com

11. บริษัท พรชัยอุตสาหกรรมชลบุรี (2003) จำกัด จัดจำหน่ายวัตถุดิบสำหรับขนมตราหมีคู่ดาว โทรศัพท์ (038) 391-503 แฟ็กซ์ (038) 746-114 หรือติดต่อคุณประทุมพร โทรศัพท์ (084) 325-5779

12. ร้านยุพากรณ์เบเกอร์รี่ เลขที่ 4182/4-6 ถนนพระราม 4 คลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 672-8285, (086) 615-8861 แฟ็กซ์ (02) 672-8202 เว็บไซต์ www.upakornbakery.com

13. หจก. สหตั้งง่วนเฮง 24-26 ถนนอนุวงศ์ แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 453-2015-18 แฟ็กซ์ (02) 897-8313 Email: service@kitchenwaremarket.com ร้านเปิดวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 08.00-18.00 น.

14. ร้านทวีผล เลขที่ 41 ตรอกสพานหัน (ซอยเยาวราช 35) ถนนเยาวราช แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 221-3662, (02) 221-2862, (081) 817-2982, (081) 814-8822 แฟ็กซ์ (02) 221-1462

15. ห้างหุ้นส่วนจำกัด พัฒนาสินเอ็นเตอร์ไพรส์ 54/1 ซอยเจริญนคร 39 ถนนเจริญนคร แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 862-4894, (02) 862-4895, (02) 862-4837, (02) 862-4938