0

รายการที่ชื่นชอบ

จาน-ชาม ตลาดนัดเสี่ยงรับสารก่อมะเร็ง

ปัจจุบันถ้วย จาน ชามราคาถูก ที่ทำด้วยพลาสติกสีสันสวยงามถูกวางจำหน่ายทั้งในตลาดนัด หาบเร่แผงลอย ร้านค้าปลีก หรือห้างสรรพสินค้า และผู้บริโภคนิยมใช้ สินค้าเหล่านี้ แม้จะมีฉลาก แต่บางผลิตภัณฑ์ไม่แจ้งชนิดของพลาสติก ไม่บอกแหล่งผลิต ไร้การตรวจสอบ จึงเสี่ยงที่จะได้รับสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde)


นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯได้สำรวจภาชนะเหล่านี้จากร้านแผงลอยในตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า งานแสดงสินค้า ร้านค้าส่ง/ค้าปลีก รวม 113 ตัวอย่าง ราคาชิ้นละ 5-29 บาท พบว่าภาชนะเหล่านี้คล้ายภาชนะเมลามีน แยกความแตกต่างได้ยาก ในจำนวนนี้มีฉลากภาษาไทย 99 ตัวอย่าง ไม่มีฉลาก 14 ตัวอย่าง เป็นภาชนะที่มีแหล่งผลิตในประเทศ 10 ตัวอย่าง ผลิตจากต่างประเทศ 94 ตัวอย่าง และไม่แจ้งแหล่งผลิต 9 ตัวอย่าง ระบุชนิดพลาสติกที่ใช้ผลิต 14 ตัวอย่าง ระบุว่าเป็นพลาสติก 80 ตัวอย่าง ไม่ระบุ 19 ตัวอย่าง ฉลากระบุอุณหภูมิใช้งาน 97 ตัวอย่าง และไม่ระบุอุณหภูมิใช้งาน 16 ตัวอย่าง

ผลการตรวจวิเคราะห์วัสดุที่ใช้ด้วยเครื่อง Fourier Transform Infrared Spectrophotometer (FT-IR) พบว่าเนื้อภาชนะเป็นเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ (Melamine Formaldehyde) หรือเมลามีนแท้ 7 ตัวอย่าง และอะคริโลไนไตรล์-บิวทาไดอีน-สไตรีน (Acrylonitrile Butadiene Styrene) 1 ตัวอย่าง ซึ่งผลิตในประเทศไทย ภาชนะที่ไม่แจ้งชนิดวัสดุในฉลากตรวจสอบได้เป็นพอลิพรอพิลีน (Polypropylene) 1 ตัวอย่าง พอลิสไตรีน (Polystyrene) 1 ตัวอย่าง และในฉลากระบุเป็นพลาสติก 103 ตัวอย่าง พบว่าเป็น ยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ หรือเมลามีนปลอม แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ เนื้อยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ เคลือบผิวด้านในด้วยเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ 45 ตัวอย่าง เนื้อยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เคลือบผิวด้านนอกด้วยเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ 53 ตัวอย่าง เนื้อยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เคลือบผิวด้านในและด้านนอกด้วยเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ 4 ตัวอย่าง และเนื้อยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์ทั้งชิ้น 1 ตัวอย่าง

เมื่อนำมาตรวจวิเคราะห์เพื่อหาการแพร่กระจายของฟอร์มาลดีไฮด์ จากกลุ่มตัวอย่างเมลามีนปลอม ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส 30 นาที ตามมาตรฐานการทดสอบผลิตภัณฑ์เมลามีนแท้ พบฟอร์มาลดีไฮด์แพร่กระจายในน้ำที่ใช้ทดสอบเกินค่ามาตรฐาน 37 ตัวอย่าง เมื่อทดสอบในอุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส หรือ 100 องศาเซลเซียส ซึ่งแจ้งไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์ พบฟอร์มาลดีไฮด์แพร่กระจายในน้ำเกินค่ามาตรฐาน 38 ตัวอย่าง

และเมื่อทดสอบโดยใช้อาหารที่เป็นสารละลายกรดอะซิติก (acetic acid) หรือกรดน้ำส้มความเข้มข้นร้อยละ 4 โดยปริมาตร อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เพื่อเลียนแบบการใส่อาหารประเภทต้มยำ หรือแกงส้มร้อนๆ พบฟอร์มาลดีไฮด์ เกินค่ามาตรฐาน 64 ตัวอย่าง และพบปริมาณที่สูงเกินกว่า 100 มิลลิกรัมต่อลิตร (มก./ลิตร) 38 ตัวอย่าง ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ของประกาศ สธ. (ฉบับที่ 295) พ.ศ.2548 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกและสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 524-2539 เรื่องภาชนะและเครื่องใช้เมลามีนต้องไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ผู้บริโภคควรสังเกตและเลือกซื้อภาชนะถ้วย จาน พลาสติกที่มีฉลากกำกับให้รายละเอียด และควรปฏิบัติตามคำเตือน

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน