0

Wishlist

รู้จักพลาสติกบรรจุอาหาร

พลาสติกบรรจุอาหาร

          ชีวิตคนเราทุกวันนี้นับว่าต้องพึ่งพาพลาสติกเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองหรือในชนบทก็ตาม ความนิยมใช้พลาสติกเป็นภาชนะบรรจุอาหารซึ่งมีทั้งใส่อาหารแห้ง อาหารสด ตลอดจนอาหารสำเร็จรูป ด้วยเหตุนี้พลาสติกจึงมีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น แต่เนื่องจากภาชนะพลาสติกมีหลายชนิด ผู้บริโภคจึงต้องรู้จักเลือกใช้ให้เหมาะสมด้วย มิฉะนั้นประโยชน์ที่ได้รับอาจมีของแถมคือโทษหรืออันตรายจากพลาสติกปะปนไปด้วยก็เป็นได้

          ในชีวิตประจำวันของเรานั้น รอบตัวเรารายล้อมไปด้วยพลาสติกหลากหลายชนิดหลากรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกล่องหรือถุงพลาสติกบรรจุอาหาร ถุงก๊อบแก๊บ เป็นต้น โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพลาสติกนั้นได้มาจากการนำน้ำมันดิบ ยางไม้ มาทำการสังเคราะห์ด้วยกระบวนการโพลิเมอไรเซซั่น และด้วยวิธีดังกล่าวจึงทำให้ได้พลาสติกหลากหลายรูปแบบ ทั้งพลาสติกสำหรับบรรจุอาหารและพลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวันอื่นๆ หากเราจะแยกแยะชนิดของพลาสติกโดยดูจากความอ่อนตัว การหลอมละลายเมื่อถูกความร้อน จะสามารถแยกพลาสติกได้เป็น 2 ชนิด คือ พลาสติกชนิดอ่อนตัวง่าย หลอมละลายง่ายเมื่อถูกความร้อน ได้แก่ ถุงร้อนถุงเย็นที่บรรจุอาหารต่างๆ อีกชนิดหนึ่งคือชนิดที่ไม่อ่อนตัวง่ายเมื่อถูกความร้อน ได้แก่ จานหรือ/ชามเมลามีนต่างๆ

          เมื่อทราบแล้วว่าพลาสติกโดยทั่วไปหรือพลาสติกบรรจุอาหารมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน และเป็นสารสังเคราะห์ที่ได้มาจากการสังเคราะห์น้ำมันดิบหรือยางไม้ การเลือกใช้จึงต้องมีความพิถีพิถันให้มาก นอกจากนี้พลาสติกที่ใช้แล้วยังสามารถนำมารีไซเคิลเพื่อผลิตเครื่องใช้หรือพลาสติกชนิดต่างๆ ได้อีก การจะนำมาใช้กับอาหารจึงต้องมีความรอบคอบให้มากขึ้น แต่เรามักไม่ค่อยใส่ใจในเรื่องเหล่านี้ สังเกตได้จากเรื่องการใช้ภาชนะพลาสติกไม่ถูกต้องใส่อาหาร อาจเพราะอันตรายที่เกิดขึ้นไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายเฉียบพลันทันทีหรือเห็นเด่นชัด แต่เป็นอันตรายที่ค่อยๆ สะสมทีละเล็กทีละน้อยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้

          ถุงร้อนและถุงเย็นเป็นพลาสติกบรรจุอาหารที่นับว่าเป็นภาชนะยอดนิยมของคนไทย เพราะเรานิยมใช้ทั้งถุงร้อนถุงเย็นใส่อาหารมากที่สุด โดยเฉพาะคนที่นิยมซื้ออาหารนอกบ้าน เพราะถุงดังกล่าวมีราคาไม่แพง สะดวก และปลอดภัยหากใช้ถูกต้อง แต่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ทราบถึงคุณสมบัติของถุงร้อนและถุงเย็นมากเท่าที่ควร ส่วนใหญ่ทราบเพียงว่าถุงร้อนใช้ใส่ของร้อน ถุงเย็นใช้ใส่ของเย็น ซึ่งความจริงแล้วถุงร้อนทำจากพลาสติกประเภทโพลีโพพิลีน ส่วนถุงเย็นทำจากพลาสติกประเภทโพลีเอทีลีน ถุงร้อนจึงเหมาะสำหรับใส่อาหารร้อนและอาหารที่มีไขมัน เพราะทนความร้อนได้ถึง 100 องศาเซลเซียส (จุดเดือด) และทนไขมันได้ดี แต่สามารถบรรจุอาหารเย็นได้เพียง 0 องศาเซลเซียส มีลักษณะใสกว่าถุงเย็นและไม่มีความยืดหยุ่น ส่วนถุงเย็นมีลักษณะขุ่นและยืดหยุ่นได้ดีกว่าถุงร้อน ทนความเย็นได้ถึง -70 องศาเซลเซียสทีเดียว แต่ทนความร้อนได้ไม่มากนัก เวลาเลือกซื้อจึงควรพิจารณาดูด้วยว่าเราจะใช้ถุงนี้ใส่อาหารอะไร อย่างไร แล้วเลือกใช้ให้เหมาะสม อย่าใช้ตามความเคยชิน ก็จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่และไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคด้วย ซึ่งอาจดูจากฉลากที่บรรจุถุงมักจะระบุไว้ว่าถุงพลาสติกนี้ใช้ใส่อาหาร โดยอาหารต้องอยู่ที่อุณหภูมิระหว่างเท่าไรกับเท่าไร

          นอกจากถุงร้อนถุงเย็นแล้ว ยังมีถุงพลาสติกอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ควรนำมาบรรจุอาหาร แต่มักพบว่าเรานิยมใส่อาหารกันมาก นั่นคือถุงก๊อบแก๊บ เป็นถุงที่มักใช้วัสดุรีไซเคิลมาผลิต ผู้ผลิตจึงผลิตออกมาในสีสันต่างๆ โดยทั่วไปอาหารที่บรรจุในถุงก๊อบแก๊บมักบรรจุในถุงร้อนหรือถุงเย็นก่อน ยกเว้นอาหารประเภทผลไม้ แต่ก็มักพบพ่อค้าแม่ขายนำมาใส่อาหารโดยตรงให้ลูกค้า อาจเนื่องจากถุงก๊อบแก๊บมีราคาถูกกว่าถุงร้อนและถุงเย็นและสามารถหิ้วได้สะดวก สิ่งที่ควรระวังคือการนำถุงก๊อบแก๊บมาใส่อาหารร้อนหรืออาหารที่มีไขมัน ซึ่งเรามักพบพ่อค้าแม่ขายนำถุงก๊อบแก๊บมาใส่กล้วยแขก ปาท่องโก๋ แม้จะมีกระดาษขาววางรองอยู่ก้นถุงก็ตาม แต่ตัวอาหารก็ยังสามารถสัมผัสถุงได้อยู่นั่นเอง ดังนั้นสารเคมีหรือโลหะหนัก เช่น สีต่างๆ ก็จะละลายออกมาปนเปื้อนกับอาหารได้ การนำอาหารใส่ถุงกระดาษที่ไม่มีหมึกปะปนแล้วนำมาใส่ถุงก๊อบแก๊บอีกครั้งจึงเป็นหนทางที่ปลอดภัยกว่า แต่เราจะทำอย่างไรให้พ่อค้าปาท่องโก๋หรือแม่ค้ากล้วยแขกได้ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้

          อีกเรื่องหนึ่งที่พบเห็นบ่อยคือผู้ที่ขายข้าวสวยตามตลาดสดมักหุงข้าวใส่ถ้วยอะลูมิเนียมใบเล็กๆ จากนั้นก็เอาข้าวออกจากถ้วยเพื่อบรรจุถุง และวางถุงที่ใส่ข้าวแล้วเรียงอยู่ในลังถึงที่มีน้ำเดือดเพื่อให้ข้าวนั้นร้อนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากความร้อนไม่เกินจุดเดือดที่ถุงร้อนรับได้ก็ไม่มีอันตราย แต่หากนำถุงเย็นมาใส่ข้าวแล้วนึ่งก็จะเกิดอันตรายขึ้นได้ ที่ผู้เขียนพบเห็นอีกเรื่องคือแม่ค้าข้าวโพดต้มที่ต้มข้าวโพดในกะละมังใบใหญ่ๆ ซึ่งไม่มีฝาปิด แต่เพื่อให้น้ำเดือดเร็วขึ้นก็มักนำถุงพลาสติกใบใหญ่มาปิดกะละมัง แล้วมัดให้แน่นด้วยเชือกก่อนนำข้าวโพดไปต้ม และต้มกันจนน้ำเดือดจัดและข้าวโพดสุก ซึ่งพลาสติกที่นำมาคลุมแทนฝาหม้อก็ไม่ทราบว่าเป็นพลาสติกชนิดใด เมื่อได้รับความร้อนสูงๆ จะเกิดการปนเปื้อนหรือไม่ เพียงมองในเรื่องของสุขอนามัยก็ไม่ถูกต้องแล้ว

           ปัจจุบันเตาไมโครเวฟเข้าถึงแทบทุกบ้าน โดยเฉพาะครอบครัวที่ไม่ได้ทำอาหารกินเองก็จะซื้อแกงถุง หรืออาหารผัดๆ ต้มๆ ใส่ถุงมากินกับข้าวที่หุงเองร้อนๆ ที่บ้าน เมื่อถึงบ้าน หุงข้าวสุกแล้วก็เทแกง ต้ม หรือผัดใส่ในชามหรือจาน แล้วนำไปอุ่นในเตาไมโครเวฟ แต่หลายคนอาจนำอาหารที่บรรจุในถุงพลาสติกไปอุ่นในเตาไมโครเวฟเลย ซึ่งวิธีการนี้ไม่ถูกต้องและอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้จึงไม่ควรทำ นอกจากนี้ภาชนะที่ใช้กับเตาไมโครเวฟก็ต้องเลือกให้เหมาะสมด้วย เพราะภาชนะบางประเภทไม่สามารถใช้กับเตาไมโครเวฟได้ นอกจากนี้ภาชนะพลาสติกทุกชนิดก็ไม่สามารถใช้กับเตาไมโครเวฟได้ เวลาเลือกใช้ให้อ่านฉลากก่อนทุกครั้ง หากสามารถใช้กับเตาไมโครเวฟได้ผู้ผลิตจะระบุไว้ที่ฉลาก หรือทำสัญลักษณ์เป็นรูปเตาไมโครเวฟ แต่ถ้ามีรูปเตาไมโครเวฟแล้วมีเครื่องหมายกากบาทอยู่ด้วยแสดงห้ามใช้กับเตาไมโครเวฟเด็ดขาด

          ภาชนะเมลามีนนับเป็นภาชนะพลาสติกอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใส่อาหาร โดยภาชนะเมลามีนมักจะเป็นจาน ชาม ช้อนขนาดต่างๆ สามารถพิมพ์สีสันสวยงามและมีรูปแบบที่หลากหลาย ราคาของภาชนะประเภทนี้ค่อนข้างแพง ทนความร้อนได้สูงในระดับหนึ่ง ทนต่อรอยขีดข่วนและแรงกระแทก ไม่แตกง่าย เวลาเลือกซื้อควรเลือกที่มีลวดลายอยู่ภายนอก เพราะสีจากจานหรือชามจะได้ไม่ปนเปื้อนลงไปในอาหาร ปัจจุบันมีภาชนะพลาสติกเลียนแบบเมลามีนซึ่งมีคุณภาพต่ำและราคาถูกกว่ากันมาก เมื่อถูกความร้อนจะอ่อนตัวง่าย ซึ่งอาหารรถเข็นมักนิยมใช้จานชามลักษณะนี้ ดังนั้นเวลากินอาหารนอกบ้านจึงควรพิจารณาภาชนะที่คนขายนำมาใส่อาหารให้ด้วย ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย

          การเลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารทุกชนิดควรรู้จักและทราบคุณสมบัติของภาชนะนั้นๆ เพื่อใช้ได้อย่างถูกต้องและเพื่อให้เกิดความปลอดภัยนั่นเอง

 

 

http://www.gourmetthai.com/newsite/nutrition/nutrition_detail.php?content_code=CONT040