0

Wishlist

Stem Cell เซลล์ต้นกำเนิดชีวิต ต่อชีวิตได้จริงหรือ

 Stem Cell เซลล์ต้นกำเนิดชีวิต ต่อชีวิตได้จริงหรือ

   Stem Cell แปลตรงตัวได้ว่า เซลล์ต้นกำเนิด เป็นเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวและเติบโตเป็นเซลล์ต่างๆ ได้หลายชนิด สเต็มเซลล์เริ่มสร้างความฮือฮาและเป็นความหวังในการรักษาโรคที่น่าจับตามอง เมื่อแพทย์ชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประสบความสำเร็จในการแยกสเต็มเซลล์ตัวอ่อนของมนุษย์ (Human Embryonic Stem Cell) มาเพาะเลี้ยงได้ในปี ค.ศ.1998 จึงเกิดเป็นสมมติฐานว่าน่าจะนำสเต็มเซลล์นี้มาเลี้ยงในหลอดทดลอง โดยคาดหวังกันว่าเซลล์ต้นกำเนิดนี้จะเปลี่ยนเป็นเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย ซึ่งจะนำไปซ่อมแซมอวัยวะที่ต้องการ เพื่อช่วยต่อชีวิตผู้ป่วยโรคต่างๆ หรือชะลอความชราได้

   Stem Cell แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อน (Embryonic Stem Cell) คือ เซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากตัวอ่อนอายุไม่เกิน 2 สัปดาห์หลังปฏิสนธิ หรือตัวอ่อนในระยะบลาสโตซิส (Blastosis) อีกชนิดคือ เซลล์ต้นกำเนิดจากผู้ใหญ่ (Adult Stem Cell) หมายถึงเซลล์ต้นกำเนิดตั้งแต่หลังระยะบลาสโตซิสหรือตัวอ่อนในครรภ์จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อาทิ เซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูก เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต และเซลล์ต้นกำเนิดจากรก (Cord Blood Cell) โดยเซลล์ต้นกำเนิดประเภทที่สองนี้จะแบ่งตัวและเติบโตเป็นเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ได้น้อยกว่าชนิดแรก

   "เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อน ถือเป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่มีคุณภาพมากที่สุด เพราะสามารถเปลี่ยนเป็น เซลล์ทุกส่วนของร่างกายได้ แต่การดูดเซลล์จากตัวอ่อนในครรภ์โดยตรงอาจทำให้แท้ง ในต่างประเทศจึงมีการผสมไข่กับสเปิร์มนอกครรภ์มารดา เพื่อให้ตัวอ่อนเจริญเป็นบลาสโตซิสในหลอดทดลองก่อนนำมาเลี้ยงเป็นเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน เพื่อใช้รักษาโรคต่อไป หรือหากยังไม่ใช้ทันที บลาสโตซิสที่แช่เย็นในอุณหภูมิ – 120 องศาเซลเซียสจะเก็บไว้ได้นานหลายสิบปี แต่การเพาะเลี้ยงแบบนี้ถือเป็นการโคลนนิ่งชนิดหนึ่ง ในเมืองไทยยังไม่อนุญาตให้ทำโดยเด็ดขาด"

   "ส่วนเซลล์ต้นกำเนิดจากผู้ใหญ่นั้น ไม่ได้หมายความแค่เซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากมนุษย์ผู้ใหญ่ แต่หมายรวมถึงเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนมนุษย์ในครรภ์หรือฟีตัส (Foetal Stem Cell) ด้วย เชื่อกันว่าเซลล์ต้นกำเนิดฟีตัสนั้นมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน เพราะมีอายุใกล้เคียงกัน แต่การนำเซลล์ต้นกำเนิดฟีตัสมาใช้จะทำให้ตัวอ่อนในครรภ์เสียชีวิต ดังนั้น ทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดคือ การใช้สเต็มจากไขกระดูก เม็ดเลือดแดง และสายรก ซึ่งทั้งหมดมีคุณสมบัติเดียวกัน นั่นคือเป็นเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตเหมือนกัน แถมการจัดเก็บสเต็มเซลล์จาก 3 แหล่งดังกล่าว ยังไม่เกิดผลเสียใดๆ ต่อผู้บริจาคอีกด้วย"

Stem Cell รักษาโรคได้มากมาย จริงหรือไม่

   "ปัจจุบันแหล่งสเต็มเซลล์ที่ใช้ในการรักษาโรคที่เป็นมาตรฐานเลยคือ สเต็มเซลล์จากไขกระดูก เลือด สายรก และรักษาได้ผลเฉพาะโรคทางโลหิตวิทยาหรือโรคเลือดเท่านั้น เช่น โรคไขกระดูก มะเร็งไขกระดูกหรือลิวคีเมียชนิดต่างๆไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดผิดปกติหรือธาลัสซีเมีย ไขกระดูกไม่ทำงาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น ทั้งนี้การใช้สเต็มเซลล์แต่ละครั้งต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์"

   ส่วนโรคที่อยู่ระหว่างการทดลอง อาทิ โรคเส้นเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมอง และเบาหวาน ซึ่งผลทดลองการฉีดสเต็มเซลล์มนุษย์ในสัตว์ทดลองพบว่ารายที่โชคดีอาจจะรักษาหาย แต่ก็มีอีกหลายรายที่นอกจากไม่หายจากการป่วยแล้วยังมีอาการแทรกซ้อน เช่น เกิดก้อนเนื้อคล้ายเซลล์มะเร็งเป็นของแถมด้วย ซึ่งวิทยาการในเรื่องสเต็มเซลล์นี้ยังคงต้องรอให้มีการค้นพบและเข้าใจกลไกที่แท้จริงเสียก่อน จึงจะนำมาใช้รักษาในมนุษย์ได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก่อนจะถึงวันนั้นการเก็บรักษาสเต็มเซลล์เพื่อใช้รักษาตัวเองยามเจ็บป่วยในอนาคต มีความสำคัญและจำเป็นหรือไม่ ลองมาฟังความเห็นจากแพทย์ผู้เกี่ยวข้องกัน

   "สเต็มเซลล์ เป็นความหวังในการรักษาโรคนานาชนิด การเก็บสเต็มเซลล์นั้นทำได้ตั้งแต่วันที่เด็กลืมตาดูโลก คือการเก็บจากสายรก ซึ่งอาจเป็นของขวัญที่มีค่าจากพ่อแม่มอบให้ลูก แต่คนที่จะทำได้ต้องมีความพร้อมทางการเงินพอสมควร เพราะการเก็บรักษาสเต็มเซลล์ไว้ใช้ในอนาคตต้องใช้เทคนิคและอุปกรณ์ที่มีราคาสูง ผมไม่ได้แนะนำหรือเชิญชวนให้ทุกคนต้องมาเสียเงินเพื่อเก็บรักษาสเต็มเซลล์ แต่อยากบอกว่านี่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนที่พร้อม มีการศึกษาพบว่าคนที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจสูง มีปริมาณสเต็มเซลล์น้อยกว่าคนปกติ เราไม่รู้ว่าถ้าคนเหล่านี้เคยเก็บสเต็มเซลล์จากสายรกเอาไว้และนำมาใช้ โอกาสที่เขาจะเจ็บป่วยเป็นโรคหัวใจอาจน้อยลงก็ได้ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย ในอนาคตเมื่อธนาคารสเต็มเซลล์ในประเทศของเรามีปริมาณสเต็มเซลล์มากพอ เมื่อนั้นอาจค่าใช้จ่ายอาจถูกลง และทุกคนจะสามารถเก็บสเต็มเซลล์เพื่ออนาคตได้อย่างทั่วถึง" นพ.ดร. พัฒนา เต็งอำนวย วุฒิบัตรอายุรศาสตร์ทั่วไปและอายุรศาสตร์โรคไต โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าว

   อีกหนึ่งความเห็นที่น่าสนใจมาจาก นพ.ดร.นิพัญจน์ อิสรเสนา ณ อยุธยา ศูนย์สเต็มเซลล์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คุณหมอมีมุมมองว่า "การเก็บรักษาสเต็มเซลล์ไว้รักษาตัวเองในอนาคตไม่ใช่สิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณป่วยด้วยโรคที่มาจากกรรมพันธุ์ สเต็มเซลล์ของตัวคุณจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่ถ้าใครที่มีความพร้อมทางการเงิน วิธีนี้ก็เป็นการซื้อความมั่นใจให้ตัวเองได้ จริงๆ แล้วอยากให้ช่วยกันบริจาคเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่า เหมือนกับการบริจาคเลือดที่ทุกคนนำมาใช้ได้ยามฉุกเฉิน"

   แม้เทคโนโลยีสเต็มเซลล์ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนในการรักษาโรคอื่นใดนอกจากโรคเลือด แต่ก็เป็นอีกหนึ่งความหวัง ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้ ภายในทศวรรษนี้เราอาจได้เห็นเทคโนโลยีสเต็มเซลล์ถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และโรคภัยร้ายแรงต่างๆ ที่รักษาไม่หายอาจแก้ไขได้ด้วยสเต็มเซลล์ ก็เป็นได้

 

 

 

คอลัมน์ Health นิตยสาร Health & Cuisine ปีที่ : 8 ฉบับที่ : 85 เดือน : กุมภาพันธ์ 2551