สวัสดีคะคอลัมน์เบเกอรี่ฉบับประจำเดือนกรกฎาคม หัวข้อของเรื่องเขียนว่า เป็นขนมชื่อ “มัฟฟิน” หลายท่านอาจจะไม่เคยทานเพราะรู้สึกว่าขนมมีลักษณะแข็ง ในขณะเดียวกัน บางท่านอาจจะเคยทานและอาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะชอบทานขนมเค้กประเภทนุ่มหรือประเภทแน่นแข็ง ฉบับนี้เราลองมาทำความรู้จักกับมัฟฟินกันดูบ้าง ว่าจริง ๆ แล้วนั้นควรจะมีลักษณะอย่างไร

“มัฟฟิน”  ชื่อนี้บางท่านอาจจะไม่รู้จักและหลายท่านคงจะคุ้นเคย เพราะในปัจจุบันจะเห็นมีวางขายตามห้างต่าง ๆ หาซื้อได้ง่ายขึ้น นอกเหนือจากการที่จะเข้าไปรับประทาน เพียงแต่ในโรงแรมเท่านั้น ปกติแล้วการรับประทานมัฟฟินนั้น ฝรั่งนิยมที่จะรับประทานเป็นอาหารเช้า หรือสามารถเป็นอาหารว่างในช่วงเบรกได้เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนคนไทยที่กินมัฟฟินได้ทุกเวลาเหมือนการกินขนมเค้ก หรือขนมชนิดอื่น ๆ อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมในการรับประทานอาหารของแต่ละชาตินั้นแตกต่างกัน

มัฟฟินเป็นขนมง่าย ๆ ที่ไม่จำเป็นจะต้องมีเครื่องตีไข่ก็สามารถทำได เนื่องเพราะลักษณะของขนมมัฟฟินนี้จะมีลักษณะแข็ง ๆ อบสุกใหม่ ๆ ด้านนอกจะกรอบ การรับประทานสามารถนำไปอุ่นให้ร้อนเสียก่อนแล้วจึงนำมาทาเนยอร่อยมาก เนื่องจากขนมมีลักษณะแข็ง ดังนั้นการคนเนยหรือตีเนยกับน้ำตาลทรายนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำให้ขึ้นฟูมากเหมือนกับการทำเค้ก ขั้นตอนในการทำมัฟฟินนี้ ผู้เขียนได้ดัดแปลงวิธีการทำจากแบบดั้งเดิมคือการนำเนยกับน้ำตาลไปตั้งไฟ จนกระทั่งน้ำตาลละลายเสียก่อน จึงค่อยใส่ส่วนผสมอย่างอื่น มาเป็นการตีเนยกับน้ำตาลให้ขึ้นฟูเล้กน้อยแล้วจึงใส่ไข่เพื่อให้เนื้อของขนมฟูขึ้น นุ่มขึ้น ถูกปากคนไทยมากขึ้น

การตีเนยกับน้ำตาล และไข่ในการทำมัฟฟินนั้น ถ้าตีมากเกินไปจะส่งผลให้เนื้อขนมขึ้นฟูมาก อบสุกแล้วเนื้อขนมจะนุ่ม แต่หนาของขนมจะไม่นูน การที่หน้าของขนมนั้นจะนูนได้ก็ต่อเมื่อส่วนผสมนั้นข้นและใช้อุณหภูมิในการอบสูง แต่เนื้อของขนมจะแน่นไม่นุ่มมาก ดังนั้นลักษณะของขนมมัฟฟินที่ดีก็คือจะต้องนูนแตกตรงกลาง

หัวใจของการทำมัฟฟินให้ออกมาได้ลักษณะสวยงามนั้นก็คือ ระยะเวลาในการตีเนยกับน้ำตาลทรายและไข่นั้นไม่ควรตีให้นานเกินไป แค่ขึ้นฟูเล็กน้อยก็ใช้ได้ แป้งที่จะเลือกนำมาใช้ก็ควรใช้แป้งสาลีอเนกประสงค์ไม่ควรใช้แป้งเค้กเพราะจะทำให้ส่วนผสมเหลว อบแล้วหน้าขนมไม่นูน แต่เนื้อขนมจะนุ่ม

มากกว่าการใช้แป้งสาลีอเนกประสงค์

การเลือกใช้แป้งสาลีอเนกประสงค์ทำนั้น ก็เพื่อให้ส่วนผสมข้น เวลาอบจะได้แตกนูนสวยงามแป้งขนมปังไม่ควรใช้ เพราะจะทำให้ส่วนผสมข้นมากเกินไปและเมื่ออบขนมออกมาจะได้เนื้อขนมที่แข็ง

อุณหภูมิที่ใช้นากรอบก็มีความสำคัญ ควรใช้อุณหภูมิ 200°C ในการอบนั้นควรจะใช้ไฟบนด้วยในช่วงแรกเพื่อให้ผิวของหน้าขนมแข็ง และปิดไฟบนแล้วจึงอบต่อส่วนผสมของขนมที่อยู่ด้านในที่ยังไม่สุกก็จะค่อย ๆ ดันขนมให้แตกออกมาตรงกลางเอง แต่ถ้าใช้อุณหภูมิอ่อนเกินไปโดยใช้อุณหภูมิระดับเดียวกันเท่ากับการอบเค้กคือ 180°C แล้วเปิดแต่ไฟล่าง ขนมที่อบออกมาก็จะไม่นูนสวยจะมีลักษณะแบน ดังนั้นการทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ที่ใช้เตาอบเป็นหลักนั้น การควบคุมอุณหภูมิในการอบมีความสำคัญมากกว่าขั้นตอนในการทำ เพราะถ้าทำขนมดีแต่คุมการใช้เตาไม่เป็นขนมที่อบสุกออกมาก็จะไม่สวย หรืออาจจะรับประทานไม่ได้ในบางครั้ง

ที่มา แม่บ้าน ปีที่ 27 ฉบับที่ 410 กรกฎาคม 2546