0

รายการที่ชื่นชอบ

การสร้างจุดขายให้ธุรกิจร้านอาหาร

การสร้างจุดขายให้ธุรกิจร้านอาหาร โดย : ผศ.วิทวัส รุ่งเรือง   

          

 

     การออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน วันนี้ดูจะเป็นกิจกรรมปกติของคนไทยทั่ว ๆ ไป จึงทำให้ธุรกิจร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจยอดนิยมสำหรับ SMEs ทุกยุคทุกสมัย แต่ท่านเคยสังเกตไหมครับว่า หลายครั้งเราจะเห็นร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในทำเลใกล้ ๆ กัน บางร้านมีลูกค้าแน่นร้อนจนต้องเข้าแถวรับบัตรคิว เพื่อรอเข้าไปใช้บริการ ขณะที่ร้านที่อยู่ใกล้ ๆ กันมองเข้าไปเห็นแต่โต๊ะเก้าอี้เปล่า ๆ กับพนักงานในร้าน แทบจะหาลูกค้าไม่ได้เลย อะไรเป็นสาเหตุที่บางร้านขายด ีแต่บางร้านขายไม่ได้

                บางทีคำตอบอาจอยู่ที่การรู้วิธีการสร้างจุดขายสำหรับร้านอาหารหรือที่ตามทฤษฎีทางการตลาดเรียกว่า “Unique Selling Point “ครับ ก่อนอื่นเจ้าของร้านอาหารต้องเข้าใจก่อนว่า วันนี้การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารในแต่ละย่านค่อนข้างรุนแรง ตามศูนย์การค้าแต่ละแห่งจะมีร้านอาหารหลายสิบจนถึงหลักร้อยร้าน บางที่เฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่นอย่างเดียวก็ 4-5 แห่ง อยู่ใกล้ ๆ กัน ร้านอาหารไทยอีก 5-6 ร้าน ร้านสไตล์บาร์บีคิวอีก 2-3 ร้าน แต่ลูกค้าเวลาหิวเข้าไปทานได้ร้านเดียวก็อิ่มแล้วครับ

                ในเมื่อลูกค้ามีทางเลือกมาก อีกทั้งราคาอาหารของร้านอาหารประเภทเดียวกัน เกรดของร้านใกล้เคียงกัน ราคาก็ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก ร้านอาหารใดที่มีจุดขายของร้านที่ชัดเจนและแตกต่างจากร้านอื่น ๆ ย่อมมีโอกาสถูกเลือกจากลูกค้ามากกว่า

                โดยปกติแล้วการสร้างจุดขายของธุรกิจร้านอาหารทำได้ 2 แนวทางใหญ่ ๆ คือ การสร้างจุดขายจากสินค้าหรืออาหารที่ขายกับการสร้างจุดขายจากบรรยากาศร้าน เพราะวันนี้เวลาลูกค้าเลือกร้านอาหารก็มักเลือกจากรสชาติและชนิดของอาหารกับบรรยากาศที่น่าสนใจของร้าน

                ลองมาทำความเข้าใจกับการสร้างจุดขายจากตัวสินค้าก่อนครับ แน่นอนที่สุดร้านอาหารก็ต้องขายอาหาร ซึ่งในเมนูของร้านอาหารส่วนใหญ่ก็มีให้ลูกค้าเลือกเป็นร้อยรายการ ซึ่งทุกร้านจะบอกว่าอาหารของตนอร่อยแต่นั่นยังเป็นจุดขายไม่ได้ครับ การจะทำให้อาหารของร้านตนเป็นจุดขายที่แตกต่างจากคู่แข่ง ทางร้านต้องพัฒนาเมนูเด็ดที่โดดเด่นเป็นที่กล่าวขวัญถึงของลูกค้าซึ่งไม่ต้องมีมากหรอกครับแค่ 4-5 รายการหรือมากที่สุดก็ไม่น่าจะเกิน 10 รายการก็พอ อาหารเหล่านี้ถ้าอร่อยกว่าร้านอื่น ๆ หรือมีลักษณะโดดเด่นของรสชาติที่หาจากร้านอื่นไม่ได้ก็จะเป็นจุดขายของร้านที่ลูกค้าบอกต่อปากต่อปากให้เพื่อน ๆ ญาติพี่น้องมาทดลอง

                อย่าง MK สุกี้ ที่ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นก็มีจุดขายอยู่ที่น้ำจิ้มสุกี้ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ร้านหัวปลาช่องนนทรีเองก็เป็นที่รู้จักจากเมนูดังอย่างหัวปลาหม้อไฟ ร้านเสริมมิตรภัตตาคารที่โด่งดังในอดีตก็เพราะเป็นต้นตำรับไก่อบภูเขาไฟที่เป็นสูตรเด็ดของทางร้านหรือร้านอาหารสไตล์โรงเบียร์อย่างโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงก็ใช้เบียร์สดที่ทางร้านทำขึ้นเองกับเมนูดังอย่างขาหมูทอดกรอบ เป็นจุดขายของร้าน

                นอกจากการสร้างจุดขายจากตัวสินค้าแล้ว ทางร้านสามารถสร้างจุดขายจากบรรยากาศในร้านโดยอาศัยการตกแต่งและสภาพแวดล้อมของร้านเป็นจุดขาย เช่น ร้านอาหารที่ตั้งอยู่บริเวณชายหาดที่สวยงามก็อาจใช้จุดชมวิวริมหาดนั่งทานอาหารพร้อมชมพระอาทิตย์ตกเป็นจุดขายของร้าน ร้านอาหารสไตล์คาวบอยอย่างโชคชัยสเต็กเฮ้าส์ก็ออกแบบเป็นโรงนาของฝรั่ง ข้างในตกแต่งแบบคาวบอย มีเพลงสไตล์คันทรี พร้อมพนักงานเสริฟในชุดคาวบอย ก็เป็นจุดขายที่ดึงดูดลูกค้าเข้ามาได้มากทีเดียว

                ที่ฟิลิปปินส์มีร้านอาหารสไตล์รีสอร์ทแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่แถบชานเมือง เขาสร้างจุดขายด้วยการจัดร้านอาหารแบบสวนท่ามกลางธรรมชาติ โดยตั้งโต๊ะอาหารกลางแจ้ง อาศัยร่มเงาของต้นไม้ช่วยบังแดดและสร้างน้ำตกเทียมขนาดใหญ่ไว้ด้านหนึ่ง ซึ่งนอกจากช่วยให้อากาศเย็นขึ้นแล้ว เขายังออกแบบให้น้ำที่ตกลงมาจากน้ำตกไหลผ่านลำธารเทียมมาผ่านใต้โต๊ะทานอาหารของลูกค้าทุกโต๊ะ ให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนทานอาหารท่ามกลางธรรมชาติ ป่า มีต้นไม้ล้อมรอบได้ยินเสียงและเห็นน้ำตก นั่งเอาเท้าแช่น้ำตกเย็น ๆ ให้น้ำไหลผ่าน ขณะที่เอร็ดอร่อยกับอาหารซึ่งเสริฟมาในกระด้งไม้ไผ่ที่ปูด้วยใบตองสด ชามใส่แกงก็ทำมาจากกะละมะพร้าว ซึ่งสร้างบรรยากาศสดชื่นและใกล้ชิดธรรมชาติให้ลูกค้ารู้สึกสบายและมีความสุข จากบรรยากาศที่ไม่เหมือนใครของร้านนี้ช่วยทำให้ร้านอาหารแห่งนี้โด่งดังในหมู่คนฟิลิปปินส์และนักท่องเที่ยวต่างชาติจนการท่องเที่ยวฟิลิปปินส์บรรจุร้านนี้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่แนะนำให้นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

                พอจะเข้าใจแนวทางการสร้างจุดขายของร้านอาหารแล้วใช่ไหมครับ ผมเชื่อว่าในด้านรสชาติของอาหาร คนไทยเราไม่เป็นรองใครอยู่แล้ว ถ้าแต่ละร้านรู้จักดึงเมนูเด็ดของตนมาสร้างเป็นจุดขายหรือสร้างบรรยากาศแปลกใหม่เพื่อดึงดูดลูกค้าแล้วละก็ พนักงานในร้านไม่ต้องนั่งตบยุงรอลูกค้าแน่นอนครับ


 


  ศูนย์ธรรมศาสตร์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์ 226-4500 โทรสาร 225-2109
E-mail : webmaster@tuecom.com