0

รายการที่ชื่นชอบ

ซื้อของออนไลน์ ต๊าย ตาย ถูกหลอก

“ไม่ได้เห็นกับตา ไม่ได้สัมผัส อย่าจ่ายเงิน อย่าโลภ เห็นแก่ถูกมาก มิฉะนั้น...อาจตกเป็นเหยื่อถูกตุ๋นผ่านเน็ต!!?”

 

“ซื้อของผ่านเน็ตมาก็เยอะ ตั้งแต่ราคาไม่ถึงร้อยถึงหลายหมื่น จริงๆแล้วชอบนะ เพราะแม่ค้าบางคนดีดี๊ น่ารัก น่าคบมาก อีกอย่างสะดวกมาก อยากช้อปเวลาไหนก็ได้ ที่ผ่านมาหลายปีก็ไม่เคยเจอปัญหาอะไร หรือเป็นเพราะเดี๋ยวนี้เศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่รู้ ทำให้ช่วงหลังมานี้ ไม่รู้เป็นไรซื้อของผ่านเน็ต มูลค่าก็ไม่ได้สูงอะไรแค่หลักร้อย โดนโกงตลอด”
 

คำรำพันจากสาวนักช้อปที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าออนไลน์ เรื่องใกล้ตัวที่ WM ฉบับนี้ต้องนำมาตีแผ่ใน S.O.S จากการสำรวจของกระทรวงพาณิชย์ พบว่าสินค้าที่มีการโกงมากที่สุด จะเป็นสินค้ามือสองประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า ของสะสม เครื่องดนตรี นาฬิกา ซึ่งมีการตั้งราคาสินค้าส่วนใหญ่ 1,000-9,000 บาท

ไม่ใช่ภัยใหม่ เป็นภัยเก่าจากเทคโนโลยีไฮเทค แต่นับวันยิ่งต้องกลัว-ต้องระวัง-ต้องรอบคอบให้มาก สำหรับการ ?ต้มตุ๋น-หลอกลวง...ผ่านอินเทอร์เน็ต? อ่านถึงตรงนี้แล้วก็อย่าเพิ่งตีรวมว่าการซื้อขายออนไลน์นั้นหลอกลวงเสียหมด เพราะจำนวนของเว็บไซต์ที่สุจริตมีมากกว่าพวกเว็บตลบตะแลง แต่เพราะปลาเน่าไม่กี่ตัวก็เลยทำวงการอีคอมเมิร์ชถูกดิสเครดิตไปอย่างน่าเสีย WM ฉบับนี้มีคำแนะนำง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณรู้ทันเล่ห์กลโกงพวกพ่อค้าน่ารังเกียด แม่ค้าไร้จรรยาบรรณ
 

วิธีสังเกตง่ายๆ คือสินค้ากลุ่มนี้มักราคาถูกเกินจริง ไม่แจ้งที่อยู่หรือชื่อร้านค้าให้ชัดเจน ไม่มีภาพตัวอย่างสินค้า ผู้ขายมัก พูดโน้มน้าวให้ผู้ซื้อตายใจ ยอมโอนเงินค่าสินค้าล่วงหน้าโดยไม่ให้หลักฐานอะไร โดยมักจะพูดในลักษณะว่าสินค้ามีจำนวนน้อย หากไม่โอนมาก็จะให้สิทธิผู้ซื้อที่โอนเงินมาก่อน ถ้าเจอแบบนี้เดาได้เลยว่าหลอกชัวร์ แนะนำให้บอกคนขายไปเลยว่า เราจะยอมจ่ายเงินเมื่อได้รับสินค้าเท่านั้น “ไม่ได้เห็นกับตา ไม่ได้สัมผัส อย่าจ่ายเงิน”
 

ลองนึกดูหากเราหลงโง่โอนเงินไปแล้ว ถ้ามิจฉาชีพเหล่านี้ก็จะหายตัวไป ไม่รับโทรศัพท์ และปิดโทรศัพท์หนี (สมัยนี้ขอเบอร์ง่าย ยิ่งกว่าซื้อแมคโดนัลด์เสียอีก) เจอแบบนี้ใครจะช่วยคุณได้ ดังนั้นจึงควรควรหลีกเลี่ยงซื้อขายสินค้ากระทู้ที่มีความเสี่ยง และอย่าคำนึงเห็นว่าราคาถูกเพียงอย่างเดียว แต่หากจำเป็นต้องสั่งซื้อสินค้าจากต่างจังหวัด ควรสอบถามข้อมูลของสินค้า และประวัติของผู้ขายให้มากที่สุด เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่จริง เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน และเลขสมุดบัญชีว่าตรงกันหรือไม่ เมื่อได้ข้อมูลเหล่ามาแล้วก็ลองใช้ชื่อร้าน หรือชื่อคนขายค้นใน Google ดู หากร้านนี้เคยโกงรับรองจะมีคนไปโพสต์ด่าไว้บานตะไท เมื่อตัดสินใจซื้อไปแล้วก็อย่าลืมที่จะเก็บสลิปการโอนเงิน และพิมพ์รายละเอียดหน้าซื้อขายสินค้า รหัสไอพี ที่ใช้ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้เป็นหลักฐานกรณีถูกโกง
 

รู้แบบนี้แล้วเราคงต้องพยายามก้าวตามให้ทันกับเล่ห์เหลี่ยมกลโกงของกลุ่มมิจฉาชีพที่แฝงตัวตามเว็บไซต์ต่างๆ  และต้องรอบคอบตรวจสอบให้ชัดเจนอย่าโลภ เห็นแก่ถูกมาก มิฉะนั้น...อาจตกเป็นเหยื่อถูกตุ๋นผ่านเน็ต!!?

------------------------
5 วิธีช้อปออนไลน์ แบบฉลาดๆ
1. เลือกจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ เว็บไซต์ไหนที่มีผู้เข้าชมจำนวนมาก มีกระทู้สอบถามเรื่องสินค้า มีรูปสินค้าให้ดู มีเบอร์โทรและที่อยู่ให้ติดต่อกลับได้ มั่นใจได้ 70%
2. ไม่แนะนำให้ซื้อจากกระทู้ เพราะมีโอกาสกระทู้จะเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ หากมีการโกงก็จับยาก และไม่อยู่ในความรับผิดชอบของเว็บมาสเตอร์
3. เพื่อความมั่นใจควรนำชื่อร้านไปค้นใน Google หากมีคนโพสต์ว่าไม่ซื่อ งานนี้ก็ไม่ควรคบ
4. ห้ามให้ข้อมูลสำคัญ อาทิ หมายเลขบัตรประชาชน  หมายเลขบัตรเครดิต  เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีเกี่ยวข้องกับการซื้อสินค้าเลยสักนิด
5. ห้ามโอนเงินให้หากยังไม่ได้รับสินค้า ทางที่ดีควรนัดรับสินค้าแล้วตรวจสอบให้เรียบร้อย ก่อนชำระเงิน ยกเว้นว่าเป็นการซื้อสินค้าจากเว็บใหญ่ อาทิ บริษัทผลิตหนังสือชื่อดัง หรือเว็บที่เป็นที่รู้จักในตลาด แบบนี้โอนเงินได้ แต่ต้องเก็บรายละเอียดการสั่งซื้อ โดยพิมพ์เก็บไว้ยืนยัน หากยังไม่ได้รับสินค้า
-------------------


ร้องทุกข์
      ใครโดนโกงร้องทุกข์ได้ที่ ศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(High-Tech Crime Center) โทร 0-2205-2627-8 โทรสาร 0-2205-1889 อีเมล์ htcc@police.go.th ดาวน์โหลดแบบฟอร์มรับแจ้งเหตุ http://htcc.ict.police.go.th/formone.doc

ที่มา: WM MAGAZINE